Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มีวิธีสอนลูกยังไง เมื่อต้องเจอเพื่อนขี้อวด

Posted By Plook TCAS | 12 ต.ค. 66
902 Views

  Favorite

            ลูกน้อยวัยประถมของเราเริ่มมีเพื่อนมากขึ้นทุกที ๆ ทั้งเพื่อนนักเรียนห้องเดียวกัน เพื่อนต่างห้อง และเพื่อนเล่นแถวบ้าน ลูกได้พูดจาและเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ได้เมาธ์มอยกันตามประสาเด็ก หลากหลายเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง เพื่อนที่คุยเล่นสนุกก็มี เพื่อนขี้อวดก็มี และลูกเราอาจยังเล็กเกินไปที่จะแยกแยะได้ถึงลักษณะที่พึงประสงค์ของเพื่อน ฟังเพื่อนขี้อวดคุยบ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน ในเรื่องของเล่นชิ้นใหม่ราคาแพง ชุดเด็กแสนสวยสุดหรูตามความนิยม โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เกินวัยเด็กเล็ก สถานที่ท่องเที่ยวอลังการงานสร้าง ที่ผู้ปกครองของเพื่อนประดังประเดให้ลูกตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว ฯลฯ ลูกเราฟังแล้วอาจเกิดความรู้สึกหลากหลาย เช่น น่าเบื่อ น่ารำคาญกับความขี้อวด หรือเกิดความรู้สึกอยากมี อยากได้ อยากเป็นอย่างเพื่อน เมื่อลูกมาเล่าถ่ายทอดให้เราฟัง เราจะมีวิธีสอนลูกอย่างไรเมื่อต้องเจอเพื่อนขี้อวด

            ลูกน้อยยังเป็นเด็กเล็ก การสอนให้ลูกรู้จักวิธีรับมือกับเพื่อนขี้อวดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา ภาษา และอารมณ์ในการพูดคุยกับลูก เพราะมีหลากหลายประเด็นให้ลูกต้องทำความเข้าใจคือ

 

เมื่อลูกรบเร้าอยากได้สิ่งของตามที่เพื่อนอวด

            ฟังเพื่อนขี้อวดเล่าบ่อย ๆ ลูกชักเคลิ้มคล้อยตามกับของเล่นแสนสนุกชิ้นใหม่แบบเพื่อน เราจึงต้องฟังลูกด้วยความสงบ ความรัก และความเข้าใจ ให้เวลาลูกน้อยบอกเล่าถึงเหตุผลที่ต้องการสิ่งของนั้น หากเป็นเพียงความอยากได้ตามเพื่อน เราต้องพูดคุยกับลูกเรื่องการเลือกใช้เงินอย่างรอบคอบและสภาพการเงินของครอบครัว รวมทั้งอธิบายเหตุผลให้เข้าใจและยอมรับกับการที่ลูกไม่ได้ของดั่งใจ และไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น หรือหากสิ่งของที่ลูกอยากได้ เป็นสิ่งที่สามารถประเทืองสติปัญญาลูกได้ เราก็ชวนลูกให้ทำงานตามกำลังเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น ช่วยคุณพ่อรดน้ำต้นไม้ ดูแลสวนให้สะอาดตา อาบน้ำให้น้องหมาน้องแมว ฯลฯ เป็นการสอนให้ลูกรู้จักเก็บออม อดทนและรอคอย เพื่อวางแผนการหาเงินตามเป้าหมาย

 

เมื่อลูกไม่ชอบใจและเบื่อหน่ายกับการพูดคุยกับเพื่อนขี้อวด

            เราควรสอนลูกให้รู้จักเรื่องความแตกต่างของบุคคล ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบทั้งเขาและเรา หากเพื่อนมีนิสัยด้านอื่นดี เสียที่ขี้อวดเกินการ เราก็สอนลูกเรื่องการให้อภัยในข้อบกพร่องของเพื่อน ให้รู้จักเลือกหามุมดี ๆ ของเพื่อนมาพูดคุยทักทายกัน และเราต้องสอนลูกไม่ให้รู้สึกด้อยค่าหากไม่มีเหมือนเพื่อนขี้อวด สอนให้ลูกภูมิใจและมั่นใจในสิ่งที่เรามีและเราเป็น การที่ลูกมีเพื่อนหลากหลายรูปแบบ และเราสอนลูกให้รู้จักวิธีการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน คือทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในชีวิต เพราะเมื่อลูกเติบโตขึ้น ลูกต้องพบกับผู้คนมากหน้าหลายตา จึงต้องมีวิธีบริหารจัดการเพื่อรับมือกับคนเหล่านั้นได้อย่างปรกติสุขและเอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นการสร้างทักษะในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

 

เมื่อลูกสงสัยทำไมเพื่อนอวดได้อวดดีไม่มีหยุด

            ธรรมชาติของคนขี้อวดอาจเป็นคนที่รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือต้องการการยอมรับจากคนอื่น หรืออยากเป็นศูนย์กลางของวงสนทนา จึงต้องยกตัวเองเข้าไว้ให้โด่งกว่าคนอื่น เราต้องสอนลูกของเราให้มีทัศนคติเชิงบวก รู้จักการสร้างมิตรสัมพันธ์โดยมีเราเป็นตัวช่วย เราอาจส่งเสริมให้ลูกสร้างกลุ่มเพื่อนที่สร้างสรรค์ สนับสนุนและให้กำลังใจกัน ไม่มีการโอ้อวดแข่งดีแข่งเด่นหรือยกตนโด่งกว่าเพื่อนคนอื่น ที่บ้านเรามีหนังสือนิทานสนุก ๆ เยอะแยะ ให้ลูกนำไปแบ่งปันให้เพื่อนคอเดียวกันอ่าน แล้วตอนเย็นขณะรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ให้ลูกและเพื่อน ๆ ใช้เวลาน้อยนิดนั้นให้เป็นประโยชน์ มาเล่านิทานสู่กันฟัง สนุกสนานกันแบบสร้างสรรค์ แล้วชวนเพื่อนขี้อวดมาร่วมกิจกรรมกันด้วย ไม่ช้าไม่นานเพื่อนต้องเปลี่ยนนิสัยขี้อวดมาเป็นนิสัยแบ่งปัน คือแบ่งปันความรู้กัน ทั้งเฮฮาปาร์ตี้เล็ก ๆ และมีสาระบันเทิงตามวัยเด็ก เราจะสามารถช่วยให้ลูกเราและเด็กคนอื่น ๆ เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มเพื่อน รวมทั้งความสุขและความสนุกในการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน ซึ่งดีกว่าการแข่งขันและความขี้อวด

 

เมื่อลูกได้ต้นแบบที่ดี วิสัยทัศน์กว้างไกล ไร้การโอ้อวด

            ครอบครัวเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญยิ่งให้ลูกน้อย ในการส่งเสริมความเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เราและสมาชิกในครอบครัวต้องเป็นต้นแบบที่ดี ไม่มีการโอ้อวด ไม่มีการคุยข่ม ลูกเรียนรู้จากผู้ใหญ่ เมื่อเราแสดงความเคารพต่อผู้อื่นและไม่เข้าร่วมในการขี้อวด เราจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะถ่ายทอดความรู้สู่ลูกได้จากการปฏิบัติตัวของเราเอง การพูดคุยกันอย่างสุภาพอ่อนโยน จริงใจ สื่อสารข้อมูลกันอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้ลูกเสริมสร้างทักษะในการจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่ใช่ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ได้ตั้งแต่วัยเยาว์

 

            ถึงอย่างไรเพื่อนก็คือเพื่อน และความหมายของคำว่าเพื่อนก็ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่หากได้เพื่อนดี ตอนนี้เพื่อนของลูกยังเป็นเด็กเล็กวัยเดียวกับลูกของเรา ความเป็นเด็กขี้อวดในวันนี้อาจเป็นการคุยจ้อของวัยเด็ก และอาจพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้เมื่อเพื่อนของลูกเติบโตขึ้น หากเราสอนลูกของเราให้รู้จักเลือกที่จะเข้าใจ และสร้างความเข้าใจร่วมกันกับเพื่อนคนนี้ อาจเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้คงอยู่ได้ต่อไป และเอื้อประโยชน์ต่อกันในภายภาคหน้าได้เมื่อต่างก็เจริญวัยแล้ว และสิ่งสำคัญคือเรากำลังสอนลูกน้อยให้รู้จักพัฒนาทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และความเข้าใจในสังคมของคนที่มีความแตกต่างกันในทางความคิด. 

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow